อนาคตการอยู่อาศัย

2017-08-03
ดิฉันได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยจากเทคโนโลยี โดยในหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงรูปแบบของการอยู่อาศัยของโลกยุคอนาคต และพูดถึงแนวโน้มการอยู่อาศัยในอนาคตไว้ 2 เรื่องด้วยกันค่ะ

เรื่องแรกเลย คือ ในอนาคตนั้น ครอบครัวยังเป็นสิ่งที่สำคัญ และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากค่ะ แม้ว่าเราจะเห็นพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านที่อยู่อาศัยที่ทันสมัยขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีการเชื่อมต่อ และชาญฉลาดมากขึ้น ทั้งจาก App ต่าง ๆ, การเข้ามาของ Internet of Things, พลังงานทดแทน หรือแม้แต่รถยนต์ไร้คนขับก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นหัวใจหลักของการอยู่อาศัยร่วมกันของคนในบ้าน คือ “สถาบันครอบครัว” จะยังคงเป็นแกนหลักที่ขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของผู้คนที่มาอาศัยรวมกันในบ้านอยู่ค่ะ โดยผู้แต่งกล่าวว่า มนุษย์จะยังคงอยู่กันเป็นครอบครัว เพราะมนุษย์นั้น มีความเป็นสัตว์สังคมในตัวเองค่ะ ผู้คนยังต้องการแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว ยังให้ความสำคัญกับชีวิตที่มีความโรแมนติกมากกว่าการหาความสุขผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัตถุค่ะ

ขณะเดียวกัน การที่ผู้คนในอนาคตยังคงให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวท่ามกลางการถาโถมเข้ามาของเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะ Social Media นั้น ก็จะก่อให้เกิด “Boomerang Effect” กลับไปยังตัวเทคโนโลยี Social Media เช่นกันค่ะ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าขณะที่ผู้คนมีการเชื่อมต่อกับผู้คนมากมายทั้งที่รู้จักกัน และไม่รู้จักกันมาก่อน มีการ update ความเคลื่อนไหว และการใช้ชีวิตจนเป็นที่รับรู้กันอย่างรวดเร็วในชุมชนออนไลน์นั้น สิ่งนี้ก่อให้เกิดการถดถอยลงของภาวะความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy ในชีวิตมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เมื่อชีวิตผู้คนในอนาคตต้องการความสุขในครอบครัวมากขึ้น คนก็จะให้ความสำคัญกับ Privacy มากขึ้นค่ะ ดังนั้น ในอนาคต แม้ว่าเทคโนโลยีจะสร้างความสะดวกสบายต่าง ๆ แก่คนไว้มาก การที่คนกลับนิยมความสัมพันธ์ในแบบครอบครัวเหมือนยุคที่ผ่านมา ก็จะก่อให้เกิดผลสะท้อนกลับที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ Social Media ได้เช่นกันค่ะ

เรื่องที่ 2 ที่จะเป็นเทรนด์ของการอยู่อาศัยในอนาคตก็คือ ผู้คนในแถบชนบทจะโยกย้ายมาอยู่ในตัวเมืองมากขึ้นค่ะ โดยปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้คนอยากมาอยู่ในเมืองมากขึ้นก็คือ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ครบครัน และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าค่ะ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่ง ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม รวมถึงโอกาสทางรายได้ค่ะ ต้องเข้าใจค่ะว่า หากเราไปดูวิถีชีวิตในชนบทโดยทั่ว ๆ ไปจะเห็นว่า ทุกวันนี้ในหลายพื้นที่นั้น แม้แต่น้ำประปาที่สะอาด และมีให้ใช้อย่างสม่ำเสมอยังเป็นสิ่งที่ขาดแคลนค่ะ หลายพื้นที่ยังคงใช้น้ำบาดาลอยู่ ไฟฟ้าเองก็ยังไปไม่ทั่วถึงค่ะ

ขณะที่ในตัวเมืองเองคนที่อยู่ในเมืองจะไม่รู้สึกค่ะว่า ความสะดวกสบายขั้นพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่พิเศษอย่างใดค่ะเพราะเป็นสิ่งที่คนรู้ว่าสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้วค่ะ และยิ่ง Social Media ในปัจจุบันมีการแพร่หลายมากขึ้นก็ยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ และเปรียบเทียบวิถีชีวิตในเมือง และชนบทชัดเจนขึ้นไปอีกค่ะ ฉะนั้นแล้ว ในอนาคตผู้คนจึงมีแนวโน้มที่จะย้ายที่อยู่จากชนบทมาสู่เมืองมากขึ้นค่ะ

โดยสรุปแล้วอนาคตของการอยู่อาศัยภายใต้โลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นนั้น ผู้คนมีแนวโน้มที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองกันมากขึ้นค่ะ ขณะที่ลักษณะการอยู่อาศัยนั้น ก็จะยังคงรูปแบบความสัมพันธ์ในลักษณะการอยู่เป็นครอบครัวไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ ขณะเดียวกัน รูปแบบความสัมพันธ์ที่ยังคงเดิมจะทำให้คนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งนั่นจะก่อให้เกิดความท้าทายต่อธุรกิจ Social Media ในอนาคตข้างหน้าได้ค่ะ

บทความโดย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
Coppyright by www.homedd.co.th
โทรศัพท์ 0-2395-2045 โทรสาร 0-2702-8495
เลขที่ 43 ชั้น 1 ถนนศรีสมุทร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองฯ สมุทรปราการ 10270