คาดสงครามราคาไม่รุนแรง
แบงก์ประเมินตลาดสินเชื่อบ้านปีหน้าทะลัก 6 แสนล้านบาท เติบโตรอบ 3 ปี เผยการแข่งขันดุ ผู้เล่นหน้าใหม่ลงสนามชิงมาร์เก็ตแชร์"กรุงศรีอยุธยา"ชี้เห็นดีมานด์ จริงตบเท้ากู้สินเชื่อตามความเชื่อมั่นดีขึ้น "ไทยพาณิชย์" ขอโต 4-6% เจาะกลุ่มบ้านราคากลาง-บน จับตาตลาดรีไฟแนนซ์คึกคัก-แบงก์รัฐโดดร่วมแข่ง
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2561คาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยใหม่ จะกลับมาเป็นบวกในรอบ3 ปี ซึ่งมียอดสินเชื่อทั้งระบบอยู่ที่ 6 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น การเติบโต 3-5% จากเดิมสินเชื่อจะทรงตัวและนิ่งอยู่ที่ระดับ 5.7-5.8 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
โดยคาดว่าซัพพลายบ้านพร้อมโอนเข้ามาในตลาดพอสมควรทั้งในส่วนของคอนโดมิเนียม บ้านแนว ราบ ทั้งทาวน์เฮาส์และบ้านแฝดที่เปิดตัวตามรถไฟฟ้าที่เปิดสถานีเพิ่มขึ้นในปีหน้าและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ จะกลับมาเปิดโครงการเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้หลังจากปี 2560 คาดการณ์อัตราการเติบโตในแง่สินเชื่อปล่อยใหม่มีอัตราเติบโตติดลบ
ปัจจัยที่ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตมาจากความต้อง การซื้อที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของผู้บริโภคที่เริ่มส่งสัญญาณความเชื่อมั่นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3-4 ปีนี้ รวมถึงดีมานด์ที่มาจากกลุ่มที่หมดภาระรถคันแรก อย่างไรก็ดีกลุ่มที่น่ากังวลและมีความเสี่ยงต่อสินเชื่อจะเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีวินัยทางการเงินหรือวางแผนทาง การเงิน เช่น กลุ่ม GenY ที่นิยมทำอาชีพอิสระ
ส่วนภาพการแข่งขันจะเห็นผู้เล่นในตลาดมีมากขึ้น ทั้งธนาคารขนาดใหญ่และเล็กลงมาเล่นมากขึ้นโดยธนาคารขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้าเยอะจะต้องพยายามรักษาตลาดและส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์)ของตัวเองไว้ ส่วนธนาคารขนาดกลางและเล็กจะพยายามเข้ามาเจาะตลาดในเซ็กเมนต์ที่ตัวเองมั่นใจเพื่อเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ ดังนั้นการเติบโตของสินเชื่อปล่อยใหม่จะไปอยู่กับธนาคารขนาดกลางและเล็ก 5-6 ราย
ส่วนการแข่งขันด้านราคา หรืออัตราดอกเบี้ยยังมีแต่คงไม่รุนแรงเท่าปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะธนาคารที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่สูง จะไม่คุ้มที่จะแข่งขันเรื่องดอกเบี้ย
สำหรับเป้าหมายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายจะเห็นว่าการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงมาก โดยเฉพาะการแข่งขันเสนอดอกเบี้ยพิเศษซึ่งต่ำมากจนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทำให้กระทบกำไรแบงก์
นางสาวจามรี เกษตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยปี 2561 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 4-6% คิดเป็นสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบราว 6 แสนล้านบาท
กลุ่มที่ขยายตัวได้ดี จะเป็นคอนโดมิเนียมและบ้านแนวราบที่ราคาระดับกลาง-บน หรือราคาเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท จะเห็นว่ามีซัพพลายในตลาดเหลือค่อนข้างมาก รวมถึงยังเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อยังกลับมาไม่เต็มที่ ส่วนกลุ่มระดับบนเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโต
ขณะที่แผนการเติบโตของธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2561 เบื้องต้นตั้งเป้าเติบโตสอดคล้องกับภาพรวมตลาดและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่คาดว่าจะเติบโต 4% ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ทั้งปีอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันปล่อยไปแล้วเกือบ 9 หมื่นล้านบาทจากยอดสินเชื่อคงค้าง 5-6 แสนล้านบาท
ส่วนการแข่งขันด้านราคามองว่าหากธนาคารลงไปเล่นจะไม่มีวันจบ เพราะทุกแห่งจะแข่งกันหั่นราคาลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดภาพรวม และสร้างเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในระบบเพราะจะทำให้คนไม่มีความพร้อมเข้าสู่ระบบ
ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพ พบว่าลูกค้าปล่อยใหม่สัญญาณค่อนข้างดี แต่หนี้เสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากลูกค้าเก่าตั้งแต่ปี 2555-2556 ซึ่งปัจจุบันได้ติดตามช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิด คาดว่าปีหน้าเอ็นพีแอลจะทรงตัวไม่เกิน 3.3% จากตอนนี้อยู่ที่ระดับ 2-3%
นายสุพจน์ สุขขะเสริมสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเคหะ ธนาคารธนชาต กล่าวว่าการแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงรุนแรงอยู่เพราะสถาบันการเงินทุกแห่งพยายามรักษาตลาดและฐานลูกค้าของตัวเอง โดยธนาคารขนาดใหญ่พยายามรักษามาร์เก็ตแชร์ของตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่าธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เข้ามาแข่งในตลาดมากขึ้น
ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเห็นว่าในเดือนพฤศจิกายนแข่งขันค่อนข้างแรงมาก โดยเดือนธันวาคมพยายามจะทำให้ได้ตามเป้าที่วางไว้โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันปล่อยได้แล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้าง 1.03 แสนล้านบาท
ขณะที่เป้าหมายในปี 2561 คาดจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านบาทโดยจะเติบโตมาจากทุกผลิตภัณฑ์ ทั้งสินเชื่อบ้านใหม่บ้านแลกเงินเป็นต้น เน้นความร่วมมือกับดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ ซึ่งมียอดลูกค้ามาจากช่องทางโครงการประมาณ 50% และผ่านช่องทางสาขาอีก 50%