ที่ดินพุ่งป่วนมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ค่าเวนคืนเพิ่มเท่าตัวเป็น 1.8 หมื่นล้าน ทางหลวงเร่งทบทวน หวั่นซ้ำรอย “บางใหญ่-กาญจน์” คาดต้นปีหน้าเปิด PPP ดึงเอกชนลงทุน ด้าน รฟม.เคลียร์ตอม่อรถไฟฟ้าส้ม-ชมพู-เหลือง สำรวจสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ กดปุ่มก่อสร้างปี”62
นาย ธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในปีนี้กรมจะเริ่มการเวนคืนที่ดินก่อสร้างมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. ใช้เงินลงทุน 80,600 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 62,600 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,000 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cross รัฐจะเวนคืนที่ดิน และให้เอกชนก่อสร้างงานโยธา ติดตั้งงานระบบ และรับสัมปทานบริหารโครงการ 30 ปี
ปัจจุบันโครงการได้รับอนุมัติ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปีนี้จะเริ่มเวนคืน และ ก.พ. 2562 จะเปิดประมูลก่อสร้าง ต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ จ.นครปฐม เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มปริมาณการจราจรมากขึ้น จากการประเมินปริมาณการจราจรในปี 2563 อยู่ที่กว่า 11,000 คันต่อวัน
ค่าที่ดินนครปฐม-ชะอำพุ่งเท่าตัว
“ปีนี้กรมได้งบฯ 100 ล้านบาท เพื่อลงพื้นที่สำรวจยอดเวนคืนที่ดินที่แท้จริงรวมถึงทบทวนวงเงินชดเชยด้วย ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 18,000 ล้านบาทหรือไม่ เพราะปัจจุบันราคาประเมินที่ดินปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชะอำ จากนั้นจะทำรายละเอียดเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนออก พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ เนื่องจากผลศึกษาเดิมทำไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกรงจะเกิดปัญหาเหมือนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ราคาสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ต้องขอขยายกรอบวงเงินภายหลัง ทำให้โครงการล่าช้า”
ลุย PPP โทลล์เวย์-พระราม 2
นายธานินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP งานก่อสร้าง ติดตั้งระบบและรับสัมปทานบริหาร อีก 2 โครงการ ได้แก่ มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-วังมะนาว ระยะทาง 75 กม. เงินลงทุน 89,000 ล้านบาท จะเริ่มสร้างเฟสแรกจากกรุงเทพฯ (วงแหวนรอบนอกตะวันตก)-มหาชัย ระยะทาง 38 กม. เงินลงทุน 45,000 ล้านบาทอีกโครงการส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เงินลงทุน 30,538 ล้านบาท ผลการศึกษาแล้วเสร็จอยู่ระหว่างหารือข้อกฎหมายเรื่องการติดขัดกับสัมปทาน โครงการอื่น จะใช้เวลาอีก 1 ปี แนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดสิ้นสุดของโทลล์เวย์ปัจจุบัน จากนั้นสร้างบนถนนพหลโยธินไปจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณแยกต่างระดับบางปะอิน สร้างเป็นทางยกระดับ6 ช่องจราจร มีจุดขึ้น-ลง 7 จุด ได้แก่ ด่านโรงกษาปณ์ คลองหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นวนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ประตูน้ำพระอินทร์ และบางปะอิน
“บริเวณบางปะอินจะเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง เพราจะเชื่อมกับถนนสายเอเชีย วงแหวนตะวันตก และมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช”
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงเปิดเผยว่าในส่วนของค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 18,000 ล้านบาทนั้น กรมได้ปรับกรอบวงเงินไปแล้วเมื่อปี 2560 จากเดิมบริษัทที่ปรึกษากำหนดไว้ 9,488 ล้านบาท หลังราคาซื้อขายที่ดินปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่เปิดใหม่ตลอดแนว แยกเป็นที่ดิน 3,416 แปลง วงเงิน 16,000 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง 1,700 หลัง 1,361 ล้านบาท และต้นไม้ 735 ต้น 611 ล้านบาท
เปิดโผแนวเวนคืน 4 จังหวัด
ตาม พ.ร.ฎ.จะเวนคืนเขตทางกว้าง 200-1,000 เมตร พาดผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 41 ตำบล 13 อำเภอ จุดเริ่มจาก จ.นครปฐม มี 7 ตำบล 3 อำเภอ จ.ราชบุรี มี 17 ตำบล 5 อำเภอจ.สมุทรสงคราม มี 2 ตำบล 1 อำเภอและ จ.เพชรบุรี มี 15 ตำบล 4 อำเภอ
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นจะเชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ต่างระดับนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่าน จ.ราชบุรี สมุทรสงคราม บรรจบกับถนนเพชรเกษม กม.ที่ 188 ใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ผ่านพื้นที่สำคัญ ทั้งนิคมอุตสาหกรรม แหล่งเกษตรกรรม และแหล่งท่องเที่ยว ก่อสร้างเป็นถนนใหม่ 4 ช่องจราจร มี 9 ด่าน ได้แก่ นครชัยศรี ตลาดจินดา บางแพ ราชบุรี วัดเพลง ปากท่อ 1 ปากท่อ 2เขาย้อย และท่ายาง ทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง ประกอบด้วย นครชัยศรี ตลาดจินดา บางแพ ราชบุรี วัดเพลง ปากท่อ เขาย้อย และท่ายาง มีที่พักริมทางหลวง 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการทางหลวงราชบุรี ทางหลวงนครชัยศรี บ้านลาด บางแพ และเขาย้อย
รฟม.เร่งส่งมอบพื้นที่ 3 รถไฟฟ้า
ด้าน นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม.เปิดเผยว่า กำลังเร่งเวนคืนที่ดินเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ได้แก่ สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) จะเร่งส่งมอบพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อเปิดบริการได้ตามแผนในปี 2564-2566
ทุ่ม 1.6 หมื่นล.เวนคืนรับสีม่วงใต้
และ จะเร่งออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 23.6 กม. วงเงินลงทุน 101,112 ล้านบาท เพื่อเปิดประมูลก่อสร้างทันกำหนดในเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่าเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ต้นปี 2562 ล่าสุด ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแล้ว รอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่าง คาดว่าใช้เวลา 2-3 เดือน จากนั้นจะเริ่มสำรวจยอดเวนคืนที่ดิน
“โครงการนี้จะใช้เงิน ลงทุน 101,112 ล้านบาท เป็นงานโยธา 77,385 ล้านบาท ค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท มีที่ดินถูกเวนคืน 480 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 288 หลังคาเรือน จุดใหญ่เป็นช่วงทางยกระดับบริเวณเตาปูน รวมถึงด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ พื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษกจะใช้สร้างเดโป้ 50 ไร่ และจุดขึ้น-ลง 17 สถานี”