ราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้า "ตากสิน-บางหว้า" พุ่งสูงสุด 14% สีน้ำเงินไปบางแค 12% สีม่วงไปบางใหญ่ 9.8%

2015-05-13
updated: 12 พ.ค. 2558 เวลา 17:06:54 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) เปิดเผยว่า ผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีดังนี้

1. ราคาที่ดินเฉลี่ยปี 2557 เพิ่มสูงกว่าปี 2556 ประมาณ 3.5% ถือว่าเพิ่มเฉลี่ยน้อยกว่าช่วงปี 2555-2556 ที่เพิ่มขึ้น 4.6%

2. ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น 33 เท่าตั้งแต่ปี 2528-2539 ขณะที่ช่วงปี 2541-2543 ราคาที่ดินตกต่ำลง 23% รอบล่าสุดราคาที่ดินเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2544 ถึงปัจจุบัน

3. ราคาที่ดินในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ เพิ่มสูงสุด 5.7% ต่อปี ในช่วงปี 2547-2548 และเพิ่มในอัตราตกต่ำสุดในปี 2552 ที่ 2.9% ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกและภายหลังรัฐประหาร อัตราการเพิ่มของราคาที่ดินสูงสุด 4.6% ในปี 2556และตกต่ำ 3.5% ในปี 2557

4. คาดว่าสิ้นปี 2558 ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 3% เทียบกับปี 2557 เพราะมีความยุ่งยากทางเศรษฐกิจหลายประการ เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีประสบปัญหา การส่งออกไม่เข้าเป้า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ส่งผลต่ออุปสงค์ของที่ดินเพื่อใช้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

5. ในรอบ 16 ปี (2541-57) การเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินเป็นประมาณ 84% หรือเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ในเขตชั้นในเพิ่มขึ้น 158% เขตชั้นนอก เพิ่มขึ้น 69-89% สาเหตุเพราะเขตใจกลางเมืองมีระบบขนส่งมวลชน

6. ในรอบ 5 ปี (2552-57) มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 55% ทำเลที่ปรับตัวเพิ่มสูงสูงสุดคือเขตชั้นใน โดยเพิ่มขึ้น 75.8% เขตชั้นนอกเพิ่มขึ้น 39.9-49.9% โดยเฉพาะในศูนย์ธุรกิจ (CBD: Central Business District) ปรับตัวสูงสุด 59.5-92.2% (เฉลี่ย 75.8%)

7. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าปรับเพิ่ม 3.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส 8.5% ส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่ง 8.9% ส่วนต่อขยาย ตากสิน-บางหว้า 14.0% ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่ 5.0% เพราะยังไม่ได้สร้าง ส่วนรถไฟฟ้า MRT ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 8.5% แอร์พอร์ต ลิงก์ เพิ่ม 5% รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ เพิ่ม 9.8% สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ เพิ่ม 8.6% และสายหัวลำโพง-บางแค เพิ่มเฉลี่ย 12.4% อัตราเพิ่มต่ำสุดคือ สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน 1.7%

8. ราคาที่ดินที่แพงที่สุดในการสำรวจคือที่ดินบริเวณรถไฟฟ้าสยามสแควร์ ชิดลม และเพลินจิต ตลอดแนว ประมาณการว่าเป็นเงินตารางวาละ 1.75 ล้านบาท หรือไร่ละ 700 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่ดินหาดป่าตอง ราคาไร่ละ 180 ล้านบาท และราคาที่ดินติดหาดเฉวง ไร่ละ 120 ล้านบาท ทั้งนี้ราคานี้เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ตารางวาละ 1.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.3%
คาดว่า ณ สิ้นปี 2558 ราคาที่ดินในบริเวณนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9-2.0 ล้านบาท

9. ราคาที่ดินแถวสุขุมวิทซอย 1-21 ได้แก่บริเวณรถไฟฟ้านานาและอโศก สูงถึง 1.7 ล้านบาทต่อตารางวา แซงหน้าสีลมที่ราคาตารางวาละ 1.5 ล้านบาท รวมทั้งสูงเกินราคาที่ดินบริเวณช่วงกลางถนนสุขุมวิท 21 ซึ่ง AREA ประเมินไว้ 1.5 ล้านบาทเช่นกัน

10. ที่ดินที่มีราคาต่ำสุดในการสำรวจนี้คือที่ดินบริเวณเลียบคลอง 13 ลำลูกกา คาดว่าตารางวาละ 2,500 บาท หรือไร่ละ 1 ล้านบาท ราคานี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2556-2557 แต่อย่างใด
แต่หากเป็นราคาในปี 2539 ที่ดินย่านนี้จะมีราคาสูงถึงตารางวาละ 3,500 บาท นี่แสดงว่าราคาที่ดินในเขตชานเมืองไกล ๆ ที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนหรือทางด่วน ไม่ใช่แนวของการเติบโตในอนาคต จะหยุดนิ่งหรือไม่ก็มีราคาลดลงตามลำดับ
Coppyright by www.homedd.co.th
โทรศัพท์ 0-2395-2045 โทรสาร 0-2702-8495
เลขที่ 43 ชั้น 1 ถนนศรีสมุทร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองฯ สมุทรปราการ 10270