แบงก์พาณิชย์ยํ้าหนี้บ้านไม่ได้สูงจนน่าห่วง ลั่น!ไม่ตัดโอกาสสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 หลังที่3

2015-08-26
ธนาคารพาณิชย์ยันไม่ได้หยุดปล่อยสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 แม้เศรษฐกิจชะลอตัว ภาระหนี้ลูกค้าปริ่ม “กสิกรไทย” ย้ำเดินตามแนวทางธปท. เน้นคุมเก็งกำไร-ก่อหนี้เกินตัว คัดลูกค้าตามหลักประกัน ชี้บ้านหลังที่ 3 ลดวงเงินลง 15% จากวงเงินอนุมัติ 80-90% แบงก์กรุงเทพ ลั่นไม่ตัดโอกาสลูกค้าขอแบงก์ให้ เน้นอนุมัติตามรายได้สมกับราคาบ้าน เชื่อตลาดบ้านไม่ได้ซึมยังไปได้ ไม่จำเป็นต้องปรับแผนสินเชื่อ ทั้งปีตั้งเป้าโต 10-15%

นายอลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) และในฐานะเลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งนอกจากการปล่อยสินเชื่อให้กับที่อยู่อาศัยหลังแรกแล้ว ในส่วนของนโยบายที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และ 3 ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของสินเชื่อ ซึ่งนโยบายการปล่อยนั้นจะต้องยึดถือตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เน้นการสนับสนุนให้เกิดการเก็งกำไร และยังเป็นสาเหตุของการหนุนให้ประชาชนก่อหนี้เกินตัว หรือเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้น และเป็นกับดักการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยากขึ้น หรือขอสินเชื่อไม่ผ่าน ส่งผลให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวทางพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และ 3 นั้นแต่ละสถาบันการเงินจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยถือว่ายังคงปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้อยู่ แต่การพิจารณาจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งโดยปกติมาตรการปล่อยสินเชื่อที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเก็งกำไร หรือผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารจะยึดตามอัตราการปล่อยสินเชื่อตามมูลค่าหลักประกัน (LTV) โดยที่อยู่อาศัยหลังที่ 1 และ 2 วงเงินปล่อยสินเชื่อจะให้ราว 80-90% ของหลักประกัน ส่วนที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ธนาคารจะลดวงเงิน LTV จากเดิมอีก 15% หรือเหลือวงเงินให้สินเชื่อ 70-75% โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 อยู่ที่ 4-5% ของสินเชื่อรวมที่อยู่อาศัย ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับบ้านหลังแรกที่ถือเป็นฐานลูกค้าหลักของธนาคาร

ส่วนภาพรวมอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในปัจจุบัน โดยรวมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นผลมาจากภาระหนี้ของลูกค้าผู้กู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติหรือเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งไม่ได้เกิดจากธนาคารเพิ่มความเข้มงวดหรือเพิ่มเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้เข้มขึ้นแต่อย่างใด เพราะในทางกลับกันจะเห็นว่าในช่วงภาวะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ นับเป็นปัจจัยสนับสนุนในการตัดสินใจซื้อบ้าน เพราะดอกเบี้ยจะถูกลง แต่ปัจจุบันไม่ได้กระตุ้นมากนัก เพราะรายได้ลูกค้าอาจไม่ได้ตามคาดหวัง และเป็นแรงกดดันให้สถาบันการเงินไม่ผ่านหรือไม่อนุมัติสินเชื่อ

ทั้งนี้โดยปกติภาระหนี้ต่อรายได้ผู้กู้จะต้องไม่เกิน 35-40% แต่ฐานลูกค้าของธนาคารถือว่ามีศักยภาพค่อนข้างดี ส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% ของลูกค้าทั้งหมด เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งกลุ่มนี้จะขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยในราคา 3-5 ล้านบาท โดยธนาคารจะเน้นร่วมมือและออกแคมเปญร่วมกับกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในการหาลูกค้า

“บ้านหลังที่ 3 เราไม่ค่อยเยอะ มีประมาณ 4-5% ส่วนหลังที่ 4 เราไม่ได้ปล่อยเลย และที่เราปล่อยบ้านหลังที่ 3 เราก็พยายามเดินตามนโยบายแบงก์ชาติที่กังวลในเรื่องการเก็งกำไร และเป็นจุดเริ่มต้นของภาระหนี้ที่สูงขึ้น เราจึงมีวิธีในการพิจารณาสินเชื่อโดยใช้หลัก LTV มาใช้เป็นเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ เพราะจะเห็นว่าธนาคารบางแห่งอาจจะไม่ปล่อยสินเชื่อเลย เพราะถือว่าค่อนข้างเสี่ยง”

ด้านนางสาวพจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และ 3 ธนาคารไม่ได้มีการปิดกั้นแต่อย่างใด หากเป็นความต้องการของลูกค้า แต่การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้อาจจะพิจารณาในเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระ หากลูกค้ามีความสามารถในการผ่อนชำระธนาคารก็ยินดีปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการปล่อยสินเชื่อลูกค้าบ้านหลังแรกเช่นกัน

“ธนาคารจะมีการแนะนำลูกค้าราคาบ้านที่เหมาะสมกับรายได้ ซึ่งฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารจะอยู่ในกลุ่มบ้านราคาตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งโดยเฉลี่ยรายได้จะอยู่ราว 3 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป ทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

นางสาวพจณีกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่ในอาศัยในช่วง 6-7 เดือนแรก เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยทั้งปีตั้งเป้าเติบโตอยู่ที่ 10-15% อย่างไรก็ดี หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตัวเลขอาจจะปรับตัว ลดลงเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีปัญหา ซึ่งภาพรวมความต้องการและกำลังซื้อยังมีอยู่ เห็นได้จากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังคงมียอดขายอยู่ แต่การตัดสินใจซื้อของคนอาจจะช้าหน่อย แต่โดยรวมยังคงขยายตัวได้อยู่ ดังนั้น ธนาคารจึงยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจหรือลดการเติบโตแต่อย่างใด เพราะแผนธุรกิจที่วางไว้ถือว่าสอดคล้องกับภาพรวม แม้ว่าคุณภาพหนี้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้สูงจนน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

สำหรับภาพรวมการแข่งขันยังอยู่ แต่อาจจะไม่ได้รุนแรงมาก โดยธนาคารกรุงเทพยังใช้กลยุทธ์เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการออกแคมเปญร่วมกับพันธมิตร และจะมีแคมเปญออกในทุกเดือน ซึ่งเป็นแคมเปญปกติไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า และสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารยังคงทำการตลาดต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่เห็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาทำตลาดที่อยู่อาศัยมากขึ้น เชื่อว่าไม่มีผลกระทบเพราะกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกัน

“สินเชื่อบ้านเรายังไม่เคยปรับเป้า เรายังคงเป้าโต 10-15% ผ่านมา 7 เดือน ถือว่ายังตามเป้ากำหนด แต่ยอมรับว่าความสามารถในการผ่อนชำระเริ่มถดถอยลงบ้าง แต่ไม่ได้เยอะมาก เพราะด้วยความที่เป็นสินเชื่อบ้านทุกคนเลยไม่ได้ทิ้ง”
Coppyright by www.homedd.co.th
โทรศัพท์ 0-2395-2045 โทรสาร 0-2702-8495
เลขที่ 43 ชั้น 1 ถนนศรีสมุทร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองฯ สมุทรปราการ 10270